วันอาทิตย์ที่ 6 ธันวาคม พ.ศ. 2552

มณีนุช เสมรสุต เดินมาอยู่ในจุดของความเป็น ‘ครูอ้วน’ ผู้ใช้เสียงเพลงกับประสบการณ์มาเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่รักในเสียงเพลง


วันนี้ มณีนุช เสมรสุต เดินมาอยู่ในจุดของความเป็น ‘ครูอ้วน’ ผู้ใช้เสียงเพลงกับประสบการณ์มาเป็นแนวทางและแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ ที่รักในเสียงเพลง“มันมีความสุขและมีคุณค่ามาก” ครูอ้วนว่าอย่างนั้น ถ้าเปรียบชีวิตกับบทเพลงตอนนี้ ก็น่าจะเป็นเพลงที่นิ่งและสงบขึ้น แต่ก็น่าจะไพเราะ และดังขึ้นกว่าที่ไม่เคยเป็นด้วยเช่นกัน... เพราะถ้าคุณเงี่ยหูฟังดีๆ ในเพลงเหล่านั้นมีเสียงเล็ก ๆ ของเด็ก ๆแทรกอยู่เต็มไปหมดเลยทีเดียว



> โครงการ C-SA ทางสายฝันสู่ดวงดาว ถือเป็นงานใหม่ของครูอ้วนเลยหรือเปล่าคะ
ไม่เลย อ้วนทำอย่างนี้มา 20 ปีแล้ว สิ่งที่มันมาต่อจิ๊กซอว์ตัวสุดท้ายก็คือการที่เราออนแอร์สู่ประชาชนเท่านั้นเอง อันนี้จะเป็นการตอบโจทย์ข้อแรกด้วยว่า มันไม่ได้เหนื่อย เพราะเป็นงานประจำของเราอยู่แล้ว เรียกว่าโดยปกติก็อยู่กับเด็กอย่างนี้อยู่แล้ว และมีความสุขที่จะทำงานกับเด็กอย่างนี้

> ความตั้งใจที่อยากจะให้กับเด็กคืออะไรคะ
คือเวทีโอกาส ผู้ใหญ่มักจะพูด จำได้มั้ยเราโตกันมานี่ บอกแหม...ประเทศไทยนะถ้าเปิดโอกาสนะ...คนเรามันขาดโอกาส โอกาสสำคัญที่สุดเลย นี่แหละคือสิ่งหนึ่งที่อ้วนได้ยินจากช่อง 3 แล้วเราก็ทำ ไม่มีเรื่องของผลประโยชน์เป็นตัวหลัก งานนี้เป็นงานที่เราเปิดโอกาสเปิดเวทีให้กับเด็กจริง ๆ แล้วการตลาดก็มาอุ้มรับไปเท่านั้นเอง ...เราอยากเป็นเวทีกลางที่มาจากทุกสารทิศ ฉะนั้นวันนี้เรามองว่า ร้อง เล่น เต้น พูด เราก็เอาครูร้องมาจากทุกสารทิศ ที่เขาจะเปิดใจรับเราได้ ซึ่งอ้วนต้องบอกว่าเวทีนี้มีคนที่คิดเหมือนเราหลายองค์กรให้ความร่วมมือมา แล้วก็ยังมีหลายองค์กรที่คิดไม่ถึงแล้วเปลี่ยนใจที่จะมาก็เยอะ กับครู อีกหลาย ๆ ท่านในเรื่องของเต้น ในเรื่องของร้อง การแสดง

> ครูอ้วนคือคนที่สร้างเด็ก สร้างโอกาสให้กับเด็ก
อ้วนไม่ได้คิดว่าสร้าง เปล่าเลย ในด้านสื่อมวลชนหรือคนไปพูดอาจจะพูดอย่างนั้น เปล่าเลย อ้วนก็ทำมาหากินของเรานี่ละ อาชีพของอ้วนคืออาชีพร้องเพลง แล้วร้องเพลงจะไปทำอะไรได้ล่ะ ก็สอนได้ ร้องเพลงก็ได้ตังค์ จริง ๆ ก็แค่นั้นเอง อ้วนคือคนอาชีพร้องเพลง เผอิญสังคมรับได้ว่าอ้วนเป็นคนสอนร้องเพลงแล้วได้คุณภาพ เด็กเหล่านั้นก็เดินเส้นทางตามครรลองของมัน ร้องเพลงเก่ง คนก็ไปให้ เขาร้องเพลงแล้วก็ติ๊กเขาถูกอีก เอา Title ใส่ให้เขาเลยกลายเป็นประโยชน์กับเราด้วย เราทำอะไรอย่างอื่นไม่เป็น ถามว่าจริง ๆ แล้วอ้วนสร้างคนหรือเปล่า อ้วนไม่ได้สร้าง แต่ว่าอ้วนพยายามรักษาไว้ในมาตรฐาน และในความคิดของเราว่าสิ่งที่เรากำลังทำในตอนนี้มันใช่เท่านั้นเอง แล้วถ้าเผื่อว่ามันไม่ใช่ เราก็ปรับเปลี่ยนดูสิ ปรับได้มั้ย ก็ทำอย่าง นั้นมาโดยตลอด แล้วพยายามฟังคนเยอะ ๆ ...

> ครูอ้วนค้นพบความถนัดของตัวเองตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
จริง ๆ แล้วแม่เล่าว่าอ้วนชอบร้องเพลงมาตั้งแต่เล็กเลย ขวบสองขวบสามขวบก็ร้อง แล้วร้องไม่เหมือนชาวบ้านนะ พอโตขึ้นอยู่ชั้นประถมต้นเพื่อน ๆ ก็จะเป็นคนที่จะมาบอกเราว่าเธอต้องร้องเพลง ฉันชอบ ...อ้วนยอมรับว่าอ้วนได้รับโอกาสในสังคมของเพื่อนที่ยอมรับให้เราเป็นผู้ที่ได้ทำตรงนั้นอยู่บ่อย ๆ แล้วเขาก็เป็นคนติ๊กถูกให้กับเรา ครูที่สอนสนับสนุนโอกาสให้เกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วจำลองสถานการณ์ให้เรานั้นเป็นตัวเอก ตัวเอกที่ออกตอนสุดท้าย หรือมาเปิดเวที ซึ่งเรามักจะได้เป็นตัวนั้นเสมอ เช่น นำสวดมนต์ ร้องเพลงประจำโรงเรียน อะไรต่าง ๆ มันก็บิวด์เรามาเรื่อย ๆ จนกระทั่งได้มาประกวดนักร้องสมัครเล่นยอดเยี่ยมแห่งประเทศไทย
> ขึ้นเวทีครั้งแรกอย่างจริงจังก็ได้รางวัลเลย
วันที่เขาประกาศผลว่าเราชนะเลิศ ตอนนั้นชนะเลิศประเทศไทยก่อน เรามีความรู้สึกว่าชนะก็ชนะน่ะ ก็เหมือนกับสอบได้ที่ 1 เพราะเราเคยสอบได้ที่ 1 พอชนะก็ดีใจ คำว่าดีใจตรงนั้นคือดีใจ แต่วันที่ไปขึ้นเวทีฮ่องกง พอประกาศผล ประโยคแรกที่มันเข้ามาในใจเรา แล้วเมื่อไม่กี่ปีมานี่ยังไปบอกกับเจ้าของเรื่องเขาเลย (ยิ้ม) ประโยคที่มันเข้ามาในสมองเราเลย เฮ้ย...เราเป็นนันทิดาแล้วเว้ย...(หัวเราะเสียงดัง) เพราะพี่ตู่-นันทิดา เป็นคนแรกที่ได้รางวัลจากเวทีนี้ ภาพของพี่ตู่เขาเป็นแชมป์มาก่อนเราสองปี แล้วเขามีคุณค่า เขาเหมือนนางงามที่มีคุณค่า เขาถูกปูพื้นฐานมาในเรื่องของการเรียนเปียโน เต้นรำ ร้องเพลงกับครูเกาหลี แล้วร้องเพลงฝรั่งได้เพราะมาก แล้วเขาก็สวยงาม โอ้โฮ...เฮ้ย ...นันทิดา (ยิ้ม) แต่ถามว่าเราอยากเป็นอย่างนั้นหรือเปล่า ต้องยอมรับว่าเราไม่เคยมีความคิดอยู่ในใจเลย เพราะเราไม่เคยคิดว่าเราเก่ง เราทำไปตามโอกาสที่เราได้เท่านั้น วันที่เรารู้ว่าเราเก่งคือวันที่เราถูกกำหนดอยู่บนหัว กำหนด title ของเราไปอย่างนั้น พอเราเห็นพี่ตู่-นันทิดา เป็นคนที่อยู่ตรงนั้น เราถึงได้รู้ว่าเราเก่ง

> มารู้ตัวว่าเราจะจริงจังกับเส้นทางนี้ตั้งแต่เมื่อไหร่คะ
น่าจะจริงจังตั้งแต่วันที่เราจะต้องไปเรียนหนังสือทางด้านนี้ ไปเรียนที่บอสตัน อเมริกา วันนั้นเริ่มจริงจังแล้วละเพราะไม่เคยเรียนดนตรี ไม่เคยเรียนทางด้านการขับร้องอะไรต่าง ๆ มาก่อน ทุกอย่างเป็นพรสวรรค์หมด วันแรกเราเดินเข้าไปในโรงเรียนที่เรียกว่า Berklee College of Music ซึ่งเขาบอกว่าเขาเป็นมหาวิทยาลัยทางด้านดนตรีของโลก ทางด้านแจ๊ส เป็นอันดับหนึ่งและที่เดียว เขาภูมิใจของเขามากเลย แต่เราไม่รู้จัก พอเดินเข้าไปในนั้น โอ้...เอาจริงละ เราเรียนไปแล้วเราจะไปทำอะไรล่ะเนี่ย

> ถ้าถามว่า 3 ปีนั้นได้อะไรกลับมาบ้าง
ได้วันนี้ ต้องบอกว่าความรู้ของเขาทุกวินาทีมาต่อยอดให้กับเราได้เป็น 10 ปี นั่นละคือความเป็นสถาบันของโลกที่เขาพูด ซึ่งวันนั้นเราไม่เข้าใจ วันนี้เราจึงกลายมาเป็น...ขอโทษภาษาของอ้วนคือ มณีนุช เสมรสุต เสมือนเป็นแบรนด์ อ้วนคือมนุษย์ที่ร่างก็จบไป แต่คำว่า มณีนุช เสมรสุต มันเป็นแบรนด์ เพราะฉะนั้นเบิร์กลี่เขาสร้างตรงนี้ ทุกวันนี้ที่เราทำได้ ที่ผู้ปกครองเขาเชื่อใจเรา ซีซ่าเกิดขึ้นได้ ช่อง 3 มั่นใจในตัวเรา เด็ก ๆ มา อะไรต่าง ๆ มันก็เป็นเพราะแบรนด์เบิร์กลี่ให้อาหารเรา

> แล้วที่มาของการเป็นครูอ้วนของเด็ก ๆ
ทุกอย่างของอ้วนตอนนี้มาจากประชาชน จากสื่อมวลชน... ถามว่าเคยคิดมั้ยที่จะสอน ไม่เคยมีอยู่ในสารบบของชีวิตเลย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือมีคนมาขอให้สอน...เริ่มจากอาจารย์มัทนี ท่านทำสถาบันอยู่แล้ว และท่านก็อยากจะทำเหมือนเอ็ดดูเทนเม้นท์ (Edutainment) ในปัจจุบันนี้ หนึ่งในนั้นก็คือการร้องเพลง...ก็เลยก่อกำเนิดเป็นตัวของหลักสูตรขึ้นมา...สอง ก็คือช่อง 3 เป็นยุคของคุณประชา มาลีนนท์ ยุคนั้นดาราก็คือคุณจริยา แอนโฟเน, คุณโชค มาเรียนกันประมาณ 30-40 คนเลยทำให้เราต้องทำหลักสูตร...คำว่า ครูเกิดขึ้นด้วยสื่อมวลชน วันหนึ่งเขียนในคอลัมน์หน้าบันเทิงว่า ‘ครูอ้วน’ จำได้เลยวันแรกที่เห็นตัวใหญ่ด้วยนะ รู้สึกว่ากลัว กลัวในการยอมรับและบอกกับตัวเองเลยว่าคุณค่า คุณสมบัติ คุณลักษณะของเราต้องพร้อม ในความคิด ของเรานะคะ เช่นคำพูดที่เราต้องพูดออกไป การแต่งกาย การวางตัว ความคิด เพราะครูคือแม่พิมพ์ในสิ่งที่เราถูกปลูกฝังมาเพราะฉะนั้นถ้าเราทำผิดไป แม่พิมพ์ผิด ผลงานออกไปมันก็ผิดหมด ฉะนั้นจึงต้องอ่าน จึงต้องเรียนรู้และต้องศึกษาอะไรอีกมากมาย

> ทุ่มเทให้กับเด็กอย่างนี้ มีเวลาให้กับตัวเองบ้างมั้ยคะ อย่างเช่นเรื่องของความรัก
อ้วนไม่โชคดีในเรื่องของความรัก ไม่มีความรักในแบบของหนุ่มสาว ถามว่าอยากมีมั้ย...อยากมี แต่มันไม่มี แล้วมีไม่ได้ มีแล้วก็ไม่สำเร็จ แล้วเราทุกข์ เราเจ็บ เราปวด เราผิดหวังมาแรงมาก จนกระทั่งเรามีความรู้สึกว่าเราไม่มีความสุข แล้วจะมีมันทำไม เราขออยู่ในความสุขดีกว่า

> ทุกวันนี้ครูอ้วนมีหลักในการดำเนินชีวิตยังไงคะ
ขอหลักเกณฑ์ของความสุข ความสุขก็คือความสงบ Peace of Mind คำว่าพีซออฟมายด์สำคัญจริง ๆ แล้วคนที่อยู่รอบ ๆ ตัวเราต้องแคร์ความสุขของเขาด้วย ดูแลกัน วิธีการดูแลก็มีหลายแบบ ดูแลในลักษณะที่ให้กินอิ่มนอนหลับ ลูกน้องเรา เราก็ต้องพยายามให้เขากินอิ่ม กินอิ่มคือเงินเดือน ให้นอนหลับคือให้เขารู้ด้วยว่างานของเขามั่นคง คนที่เรารัก เราก็ต้องเรียงลำดับ มีความจริงใจให้ต่อกัน อย่างในตอนนี้อ้วนก็มีแม่ เราก็ต้องดูแม่ให้แม่มีความสุขในหนทางของเขา ไม่ใช่หนทางของเรา เพราะบางทีเราอยากพาเขาไปเที่ยวแต่เขาอาจจะไม่อยากไปก็ได้นะ ความสุขของใครก็ของมัน


นอกจากเสียงหัวเราะ เสียงดนตรี กระทั่งบรรยากาศอันรื่นรมย์ที่มาพร้อมกับบทเพลงอันไพเราะแล้ว...แรงบันดาลใจ ความฝัน และประสบการณ์ยังเป็นอีกสิ่งที่เธอยินดีที่จะถ่ายทอดผ่านบทเพลงแห่งชีวิตให้กับเด็กรุ่นแล้วรุ่นเล่าอย่างไม่รู้เหนื่อย... มณีนุช เสมรสุต

2 ความคิดเห็น:

  1. ไม่ระบุชื่อ6 มกราคม 2553 เวลา 05:23

    รักครูอ้วนค่ะ และจะรักครูอ้วนไปตลอดไป

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ23 ตุลาคม 2553 เวลา 03:05

    เป็นกำลังใจให้ครูอ้วนนะค่ะ

    หนูเป็นนักเรียนตนนึงของครูตอนนี้หนูเรียนอยู่ m 5

    ดูแลตัวเองด้วยน๊ค๊ ครูอ้วนจะเป็น ไอดอล ของหนูตลอดไป

    ขอไห้ครูอ้วนเข้มแข็งน๊ค๊ และอยู่กับหนูไปนานๆ รักที่สุดค่ะ

    แพร รัตนา รักครูอ้วน

    ตอบลบ